top of page

ทำไมต้องดับเพลิงด้วยโฟม


เหตุเพลิงไหม้มีหลายประเภทด้วยกัน สำหรับเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันหรือเกิดจากสารเคมีบางชนิด ห้ามใช้น้ำในการดับเพลิงไหม้เด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เกิดไฟลุกลามได้!


การใช้โฟมในการดับเพลิง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด โฟมจึงเป็นสารดับเพลิงชนิดเดียวที่เหมาะสมกับการดับเพลิงในพื้นที่จัดเก็บน้ำมัน หรือ สารไวไฟโดยการ นำน้ำยาโฟมเข้มข้น (Foam Concentrate) จากโรงงานผู้ผลิต มาผสมกับน้ำดับเพลิง ในอัตราส่วนที่ต้องการ เช่น 1%,3%,6%โดยผ่านตัวผสมโฟม Proportioner(ซึ่งมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับการเลือกลักษณะในการใช้งาน) จนได้ สารละลายโฟม (Foam Solution) ที่พร้อมจะนำไปฉีดออกตามอุปกรณ์ในการฉีดโฟม (Discharge Device) แบบต่าง ๆ โดยในการเลือกชนิดของอุปกรณ์ในการฉีดโฟม (Discharge Device) นั้น จะพิจารณาจากพื้นที่ในการจัดเก็บน้ำมัน หรือ สารไวไฟ โดยโฟมดับเพลิงที่ได้จะมีคุณสมบัติความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำมัน หรือ สารไวไฟ จึงสามารถลอยปกคลุมเหนือผิวของน้ำมัน หรือ สารไวไฟที่กำลังลุกไหม้แล้วก่อตัวเป็นแผ่นกว้างไล่อากาศออก พร้อมผนึกไอของน้ำมัน หรือ สารไวไฟไว้ ไม่ให้สัมผัสกับอากาศที่อยู่รอบๆ กลไกอีกส่วนเป็นการลดอุณหภูมิของภาชนะโดยรอบ จากการที่มีน้ำซึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ในฟองโฟม


กลไกในการดับเพลิงของโฟมดับเพลิง

1.การตัดแยกอากาศออกจากไอของน้ำมัน หรือ สารไวไฟ

2.การกำจัดการคายไอจากผิวหน้าของน้ำมัน หรือ สารไวไฟ

3.การแยกเปลวไฟออกจากผิวหน้าของน้ำมัน หรือ สารไวไฟ

4.การหล่อเย็นของผิวหน้าของน้ำมัน หรือ สารไวไฟ รวมทั้ง ภาชนะ หรือ โลหะในบริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันการลุกซ้ำ (Re-Ignition)


การเลือกชนิดของโฟมดับเพลิงในการดับเพลิง ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมัน หรือ สารไวไฟที่จัดเก็บโดยพื้นฐานแล้ว เราแบ่งน้ำมัน หรือ สารไวไฟออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ โดยพิจารณาจากความสามารถในการละลายน้ำของ น้ำมัน หรือ สารไวไฟ ที่จะดับเพลิง คือ

1) ไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon)ไฮโดรคาร์บอนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีขั้ว จึงไม่สามารถละลายน้ำได้ ตัวอย่างเช่น น้ำมันดิบ (Crude oil) น้ำมันเชื้อเพลิง (Gasoline) เฮกเซน (Hexane) แนปธา(Naphtha) น้ำมันดีเซล (Diesel oil) สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer หรือ SM) ฯลฯ

2) โพลาร์ โซลเว้นท์ (Polar Solvent) ส่วนโพลาร์ โซลเว้นท์จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขั้ว จึงสามารถละลายในน้ำได้ ตัวอย่างเช่น แอลกอฮอล์ (Alcohols) เอสเตอร์ (Esters) คีโทน (Ketones) ฯลฯ


ชนิดของน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate)ที่นิยมใช้

1. โฟมโปรตีน (Protein Foam Concentrates) โฟมโปรตีนเป็นโฟมที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ดับไฟที่เกิดจากสารไฮโดรคาร์บอนเท่านั้น มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน ฟองโฟมมั่นคง ให้ประสิทธิภาพดีเยี่ยมในการต้านทานความร้อน การป้องกันไฟลุกติดขึ้นมาใหม่ และการยุบตัว

2. โฟมฟลูออโรโปรตีน (Fluoroprotein Foam Concentrates) โฟมฟลูออโรโปรตีนใช้สำหรับดับไฟที่เกิดจากสารไฮโดรคาร์บอนเท่านั้น ซึ่งในฐานะที่ยังเป็นโฟมโปรตีนอยู่ จึงมีคุณสมบัติต้านทานความร้อนและป้องกันการลุกติดไฟขึ้นมาใหม่ที่ดีเยี่ยม ทำให้วางใจได้ในความปลอดภัยหลังดับไฟสำเร็จ และมีการไหลตัวได้ดีกว่าโฟมโปรตีน

3. โฟม Conventional AFFF เป็นโฟมที่สามารถสร้างชั้นเคลือบผิวหน้าไฟ (Filming) ได้ในช่วงเวลาสั้นๆสามารถดับไฟได้เร็วขึ้น แต่สามารถใช้ดับเพลิงที่เกิดจากสารไฮโดรคาร์บอนเท่านั้น

4. โฟม Alcohol Resistant AFFF (AR-AFFF) ไฟที่เกิดจากสารไวไฟโพลาร์ โซลเว้นท์สามารถทำลายโฟม AFFF ธรรมดาโดยการแยกน้ำออกจากส่วนผสมทำให้ชั้นฟิล์มคลุมเชื้อเพลิง เกิดความเสียหาย ดังนั้น การดับไฟประเภทนี้ ต้องใช้โฟมที่มีคุณสมบัติต่อต้านแอลกอฮอล์หรือสารโพลาร์ โซลเว้นท์ เนื่องจากโฟมชนิดดังกล่าวมีสารโพลีเมอร์ที่สามารถป้องกันฟิล์มโฟมไม่ให้ถูกทำลายโดยเชื้อเพลิงโพลาร์ โซลเว้นท์


อัตราส่วนในการผสมน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) กับ น้ำดับเพลิง

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ต้องการใช้สารละลายโฟม (Foam Solution) ในอัตราส่วน 3% ทำได้โดยการ จะต้องนำน้ำยาโฟมเข้มข้น (Foam Concentrate) จำนวน 3 ส่วนผสมกับน้ำ 97 ส่วน โดยผ่านตัวผสมโฟม (Proportioner) ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สารละลายโฟม (Foam Solution) จำนวน 100 ส่วน แล้วผสมกับอากาศตอนออกจากอุปกรณ์ในการฉีดโฟม Foam Discharge Device ภายในพื้นที่ป้องกัน เพื่อให้ได้ฟองโฟมที่มีความอยู่ตัวแม้โดนความร้อน มีความไหลลื่น มีพอควรเพื่อการแผ่กระจายไปบนผิวหน้าของน้ำมัน หรือ สารไวไฟอย่างรวดเร็ว และเข้าถึงมุมอับได้ดี


การเก็บน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate)

ในการเก็บน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate)ที่ซื้อมาจากผู้ผลิตจะต้อง เก็บในอุณหภูมิไม่สูงกว่าที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นแล้วน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) จะเสื่อมคุณภาพจากความร้อนสูง และจะต้องไม่เก็บน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) ในอุณหภูมิเยือกแข็ง (Freezing point)

การเก็บน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) ไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม (กำหนดโดยผู้ผลิต) นอกจากจะทำให้ น้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate)ไม่เสื่อมสภาพแล้ว ยังสามารถนำออกไปใช้ งานได้ง่ายอีกด้วย


ข้อแนะนำในการเก็บน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate)

1. เก็บน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate)ไว้ในถังบรรจุที่มีหลังคามุง โดยเก็บในปริมาณที่เพียงพอกับการดับเพลิง

2. หลีกเลี่ยงการเก็บในที่มีอุณหภูมิสูง เกินที่ผู้ผลิตกำหนด

3. ห้ามเก็บน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) รวมกันหลายยี่ห้อไว้ในถังบรรจุใบเดียวกัน ในกรณีเป็นการเก็บระยะยาว

4. ป้องกันน้ำไม่ให้เข้าไปในที่เก็บน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) ซึ่งจะทำให้น้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) เสื่อมคุณภาพ

5. ป้องกันการปนเปื้อนจากส่วนผสม แปลกปลอมสารเคมีหรือน้ำมัน การเขย่า การกวนและการใช้ฝาปิดไม่เหมาะสมอาจจะทำให้ น้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) เกิดการปนเปื้อนได้

6. วาล์ว ตัวเชื่อมต่อ และท่อที่จะต้อง สัมผัสกับน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) อยู่ตลอดเวลา จะต้องเป็นโลหะที่ไม่ทำให้เกิดสนิมหรือการกัดกร่อน โดยอ้างอิงคำแนะนำจากผู้ผลิตน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate)

การตรวจสอบคุณภาพของ น้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) ที่จัดเก็บ

เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพของ น้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) ที่จัดเก็บมาตรฐานสากล มีการกำหนดว่า จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของ น้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) ที่จัดเก็บ เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยส่งตัวอย่างน้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) ที่จัดเก็บไปยังผู้ผลิต หรือ ห้อง Lab ที่ได้รับการรับรอง การเก็บรักษาที่ดี จะทำให้น้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) ที่จัดเก็บคงคุณภาพไว้ได้


ในการตรวจสอบคุณภาพของ น้ำยาโฟมดับเพลิงเข้มข้น (Foam Concentrate) จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติตาม ตัวอย่างรายการดังต่อไปนี้

1.การวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH Value)

2.การวัดค่าความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity)

3.การวัดค่าอัตราการขยายตัว Expansion Ratio

4.การวัดค่าการยุบตัว 25% Drainage Time

5.การวัดค่าดัชนีหักเหของแสง Refrac Index

6.การวัดค่าความหนืด Viscosity

7.การวัดค่าตะกอน Sediment

8.ทดสอบการสร้างฟิล์ม Film Form Test

9.การทดสอบการดับแอลกอฮอล์ Hot IPA Test สำหรับโฟมเข้มข้นชนิด AR-AFFF


เรียบเรียงโดย : คุณธานินทร์ เติมวัฒนพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมพีเรียลไฟร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด


หากสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการติดตั้งระบบดับเพลิงสามารถติดต่อเรามาได้ที่

bottom of page